วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ศึกชิง "ช้างแก้ว, นางแก้ว, คัมภีร์จักรพรรดิ และพระแก้วมรกต"

มีประวัติศาสตร์อีกช่วงหนึ่งที่น่าสนใจ ควรศึกษามากคือ ช่วงกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย ซึ่งในไทยอาจหาความจริงได้ยาก เพราะเป็นความพ่ายแพ้ของไทย ท่านควรหาข้อมูลจากประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้านด้วยนะครับ เอาละ เพื่อไม่ให้เสียเวลา อยากสรุปว่า มันคือ "ศึกชิงความเป็นเจ้าจักรพรรดิ" นั่นเอง


เริ่มจาก "ศึกชิงคัมภีร์จักรพรรดิ์"
หรือ คัมภีร์สุวรรณโคมคำ ที่ตกทอดสู่อาณาจักรล้านนา เดิมยุคนั้น "พระไชยเชษฐาธิราช" ทรงปกครองอยู่ (ทรงมีเชื้อสายล้านช้าง แต่เพราะล้านนาแย่งชิงอำนาจกันวุ่นวาย จึงถูกเชิญมาปกครองล้านนาก่อน) เมื่อล้านนามีผู้เหมาะสมดูแลแล้ว ท่านจากไป ไม่นานนัก บุเรงนองก็ยกทัพมาตี และคาดว่า บุเรงนองน่าจะได้ "คัมภีร์สุวรรณโคมคำ" ไปด้วย ในขณะที่พระไชยเชษฐาธิราช ทรงอัญเชิญ "พระแก้วมรกต" กลับไปยังเมืองล้านช้าง (ลาว) ต่อมา เมื่อทรงออกจากเมือง บุเรงนองก็ถือโอกาสยกทัพไปตี ทำให้ท่านต้องย้ายเมืองไปอยู่ที่ "เวียงจันทร์" ซึ่งเป็นเมืองใหม่ของล้านช้าง (ลาว) ในขณะนั้น

ต่อมาก็ศึกชิง "ช้างเผือก"
ซึ่งเดิมทีเป็นของพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์อโยธยา ท่านมีช้างเยอะเป็นร้อยๆ และช้างเผือกอีกมากมาย ได้รับนามว่า "พระเจ้าช้างเผือก" อีกนามหนึ่ง ต่อมาบุเรงนองขอช้างเผือกเพื่ออ้างเป็นเหตุมาทำสงคราม  พระมหาจักรพรรดิ ไม่ให้ จึงเป็นเหตุให้บุเรงนองยกทัพมาตีเรื่อยๆ จนชนะแล้วได้เมืองอโยธยาในที่สุดไป อนึ่ง ตามตำราพระจักรพรรดิ จะทรงมี "ช้างแก้ว" ซึ่งก็คือ "ช้างเผือก" ในความหมายของคนยุคนั้น ดังนั้น การมีช้างเผือก จึงหมายถึงความอยากเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรืออยากขยายอิทธิพลยึดเมืองคนอื่น ทั้งนามของกษัตริย์อโยธยาก็มีนามว่า "พระมหาจักรพรรดิ" ยิ่งทำให้พม่าระแวงแน่นอน

ต่อมาก็ศึกชิง "นางแก้ว"
ซึ่งก็คือ "พระเทพกษัตรี" พระราชธิดาของพระมหาจักรพรรดิและพระสุริโยทัย ซึ่งในยุคนั้น พระสุริโยทัย ทรงสละชีพบนช้างอย่างกล้าหาญ ทำให้ต่างก็ชื่นชมในพระเกียรติคุณของท่าน ดังนั้น พระราชธิดาจึงตกเป็นที่ต้องตาต้องใจของกษัตริย์ทั้งหลาย เดิมทีพระไชยเชษฐาธิราช สู่ขอต่อพระมหาจักรพรรดิก่อน แต่ถูกชิงตัวโดยบุเรงนองไประหว่างทาง (เดิมท่านป่วย จึงจะให้อีกองค์ไปแทน พอพระไชยเชษฐาธิราชรู้ก็ส่งคืน ปีต่อมา ท่านจึงส่งพระเทพกษัตรีไปให้) สุดท้าย พระเทพกษัตรีจึงต้องไปอยู่พม่าแทน ซึ่งหากว่าส่งพระเทพกษัตรีได้สำเร็จ อโยธยาและล้านช้างก็จะผูกสัมพันธไมตรีกันได้อยู่แล้ว

บุคคลสำคัญที่น่าสนใจคือ

๑. พระมหาจักรพรรดิ ซึ่งได้ครอบครองทั้ง ช้างแก้ว, นางแก้ว อันเป็นสองสิ่งในเจ็ดสิ่งที่เป็นสมบัติของพระมหาจักรพรรดิ ประกอบกับพระนามยิ่งทำให้กษัตริย์รอบข้าง ระแวงว่าจะทรงแผ่ขยายอิทธิพล บทบาทของพระองค์ไม่โดดเด่นเท่าพระสุริโยทัย ที่ยอมออกรบไปสละชีพแทนพระมหาจักรพรรดิ ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของท่านแย่ลง เหมือนกษัตริย์ที่อ่อนแอ อาศัยการ "ยื้อเวลา" อยู่ต่อไปวันๆ รอวันที่จะล่มสลายเท่านั้นเอง ดังนั้น ท่านจึงมีความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เพียงแค่ "ในนาม" เท่านั้นเอง

๒. พระไชยเชษฐาธิราช (ลาว) ซึ่งได้ครอบครองพระแก้วมรกต (จากล้านนา) อันเป็นเหมือนองค์แทนของพระเจ้าจักรพรรดิในตัว ท่านผู้นี้ ไม่ได้ใช้่สงครามยึดบ้านเมืองใคร แต่ด้วย "บารมี" ของท่าน ทางล้านนาถึงกับอัญเชิญท่านไปเป็นกษัตริย์ ต่อมา ทางล้านช้างมีเรื่องกันอีก ก็เชิญท่านไปเป็นกษัตริย์อีก เรียกได้ว่า "ท่านได้อำนาจด้วยบารมีล้วนๆ" เลยทีเดียว ภายหลังท่านตั้งเมืองใหม่คือเวียงจันทร์ ทำให้เมืองที่ท่านเคยปกครองทั้งหมดคือ ๓ เมือง ได้แก่ ล้านนา, ล้านช้าง (เก่า), ล้านช้าง (ใหม่)

๓. พระธรรมราชา ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระนเรศวร ซึ่งไม่ลงรอยกับพระมหาจักรพรรดิ เมื่อถูกพม่าตีแตกก็ขึ้นกับพม่าไป รอให้พม่ามายึดเมืองอโยธยาแล้ว ก็ได้รับตำแหน่งจากพม่าเป็นกษัตริย์อโยธยาต่อ แบบ "หุ่นเชิดพม่า" เป็นเมืองขึ้นของพม่า คาดว่าท่านตั้งใจจะย้ายเมืองหลวงมาที่พิษณุโลก และปล่อยให้อโยธยาล่มลงไปเอง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางอำนาจใหม่ที่จะประสานระหว่างเมืองอโยธยาและล้านนาได้ ภายหลัง ก็ได้พระนเรศวร (พระราชบุตร) สานต่องาน ชนะสงครามประกาศอิสรภาพ ไม่ขึ้นแก่พม่า

๔. พระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งเป็นกษัตริย์พม่าที่ยึดครองอโยธยาได้สำเร็จ อนึ่ง บุเรงนองเองก็เกรงบารมีของพระไชยเชษฐาธิราชบ้างเหมือนกัน แม้จะชนะได้ ก็ด้วยเล่ห์ เช่น อาศัยจังหวะที่ท่านไม่อยู่ในเมือง บุกโจมตี จึงชนะ หรืออาศัย "พระธรรมราชา" ขัดขวางพระไชยเชษฐาธิราชแทนตนเอง ในยุคนั้น เรียกว่าอยู่ในยุคสงคราม บุเรงนองนับว่าเป็นหนึ่งด้านการทหาร แต่ด้านการปกครอง ไม่อาจเทียบพระไชยเชษฐาธิราชได้ แม้ได้ยึดเมืองผู้อื่นก็ด้วยการเข่นฆ่า ไม่ต่างจากโจร (ซึ่งพระไชยเชษฐาธิราช ไม่มีแบบนี้เลย)


หากจะเปรียบเทียบคนทั้งสี่แล้ว นับว่า "บุเรงนอง" ประสบความสำเร็จสูงสุด แต่ความสำเร็จของเขาก็มาได้ด้วย "การเข่นฆ่า" และการก่อกรรมทำเข็ญเท่านั้น ในขณะที่พระไชบเชษฐาธิราช กลับประสบความสำเร็จได้ด้วย "บารมีล้วนๆ" เช่น การได้ครองอำนาจ ก็มาจากผู้อื่นอัญเชิญท่าน มิได้ใช้กำลังยึดครองบ้านเมืองผู้ใดเลย ส่วนอีกสองท่านคือ พระมหาจักรพรรดิ เรียกได้ว่า "ล้มเหลว" ทั้งทางด้านการปกครองและการทหาร เพราะไม่อาจปกครองในคนทั้งหลายรวมใจเป็นหนึ่งเดียวได้ทั้งยังแพ้สงครามต่อบุเรงนองอีก ส่วน "พระธรรมราชา" ก็นับว่าประสบความสำเร็จครึ่งหนึ่ง เมื่อได้พระนเรศวรมาสานต่องาน ทำให้ได้อำนาจมาครองได้ในที่สุด (หากไม่ปล่อยให้อโยธยาล่มสลาย เกรงว่าท่านคงไม่ได้อำนาจมาครอง ด้วยพระมหาจักรพรรดิมีรัชทายาทอยู่แล้ว) ซึ่งความสำเร็จของพระธรรมราชานั้น ก็ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังทหารเข้ายึดครองอำนาจของกรุงอโยธยาแต่อย่างใด ดังนั้น ท่านจึงไม่ได้ชื่อว่าเป็นกบฏ (ก่อนหน้านั้นมีหลายคนก่อการกบฏ เช่น แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ เป็นต้น) แต่ท่านอาศัยความพ่ายแพ้ต่อพม่าเป็นประโยชน์  เพื่อยืมมือพม่า ล้มอำนาจของอโยธยาลง ก่อนจะได้อำนาจมาครองไว้ในมือ นั่นเอง


ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ มีบางส่วนคล้ายกับสถานการณ์ปัจจุบันนะครับ ลองดูให้ดีๆ จะเ็ห็นเอง