วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ย้อนเกร็ดประวัติศาสตร์แห่งอารยธรรม "ผ้า" สี่ยุคสมัยที่ท่านหาอ่านที่ใดไม่ได้ ดังนี้ฯ

อารยธรรมผ้า มีมายาวนานคู่กับมนุษย์ จนเราถึงกับยอมรับว่าเป็น "หนึ่งในปัจจัยสี่" ที่จำเป็นของมนุษย์เลยทีเดียว ทว่า ความเป็นมาของผ้านั้นยาวนานเพียงใด ไม่อาจประมาณได้ ผมจึงขอแบ่งเป็น ๔ ยุคดังนี้

๑. ยุคเปลือย คือ ยุคที่ยังไม่มีผ้า เกิดขึ้นบนโลก มนุษย์อยู่เหมือนสัตว์ ไม่ปกปิดร่างกาย เปลือยเปล่า ไม่ต่างจากสัตว์ ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างความรู้สึกของการเปลือยและการไม่เปลือย แต่อย่างใดเลย

๒. ยุคอำพราง คือ ยุคที่เริ่มหาใบไม้มาร้อยเรียง ปิดบังอำพรางบางส่วนของร่างกาย แต่ยังไม่รู้จักการใช้เส้นใยถักทอเป็นผ้าผืนเพื่อนุ่งห่ม แต่ยุคนี้เริ่มรู้จักการปิดบังอำพรางร่างกายแล้วสืบทอดแนวคิดต่อไป

๓. ยุคผ้านุ่ง-ผ้าผืน คือ ยุคที่รู้จักเส้นใย, การถักทอ ทำให้ได้ผ้าขึ้นมาครั้งแรก เป็นผืนๆ และมีการนุ่งห่มทั้งผืนโดยไม่มีการตัดเย็บให้เป็นรูปแขนขา เหมือนเสื้อและกางเกงอย่างที่เรานุ่งห่มกันอยู่ในทุกวันนี้

๔. ยุคผ้าตัดเย็บ คือ ยุคที่รู้จักการตัดเย็บผ้าผืน ให้เป็นรูปร่างต่างๆ เข้ารูป, เข้าตัว ทำให้มีเสื้อ (มีแขน), มีกางเกง (มีขา), มีกระโปรง (มีเอว) ฯลฯ เกิดขึ้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นยุคสมัยใหม่ของมนุษย์โลกเลยทีเดียว

สำหรับยุค "ตัดเย็บ" นั้น ผมไม่ขออธิบายมาก เพราะเป็นยุคร่วมสมัยที่เราเป็นกันอยู่ แต่การตัดเย็บของเรายังแยกกันระหว่างผ้าท่อนบนและท่อนล่าง ไม่แน่ว่ายุคต่อไปอาจสำเร็จได้ในชุดเดียว เรียกว่า เอาแค่ชุดเดียวก็ใส่ได้ทั้งตัวไปเลย ง่าย, เร็ว, ประหยัด ฯลฯ ว่าอย่างนั้น ก็ไม่แน่นะครับ เอาละ ผมขอขยายความย้อนไปในยุคที่เีรียกว่า "ยุคผ้านุ่ง-ผ้าผืน" กันก่อนดีกว่า ซึ่งยังคงหลงเหลือให้เห็นในยุคปัจจุบันน้อยมาก เช่น การห่มผ้าสาหรีของชาวอินเดีย, การห่มผ้าจีวรของพระ, การนุ่งโสร่งของชาวพม่า, การนุ่งผ้าขาวม้าของคนไทย ฯลฯ เป็นต้น ในยุคนี้ ไม่มีการตัดเย็บผ้าเป็นรูปร่างอื่นๆ นอกจากเป็นผ้าผืินเท่านั้น แต่ใช้การ "ผูก, รัด, มัด, พัน, พับ" ฯลฯ ในการนุ่งห่มแทน จึงเรียกว่า "ผ้านุ่ง" บ้าง "ผ้าห่ม" บ้าง แตกต่างกันออกไป ที่น่าสนใจคือ "วิธีการนุ่งห่มที่ต่างกัน" เช่น ในบางวรรณะจะนุ่งห่มอย่างหนึ่ง อีกวรรณะหนึ่งจะนุ่งห่มไปอีกอย่างหนึ่ง การนุ่งผ้าแบบพับด้านหน้าแล้วปล่อยชายผาตามปกติ เช่น การนุ่งสงบของพระ เป็นการนุ่งในแบบของวรรณะกษัตริย์ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็มาจากวรรณะกษัตริย์มาก่อน แล้วใช้การนุ่งผ้าแบบนี้ ส่วนการนุ่งผ้าอีกแบบเช่น การพันชายผ้าให้แข็งแล้วแทงใต้หว่างขา เหมือนหางแล้วเหน็บไว้ด้านหลังนั้น น่าจะมาจากการนุ่งผ้าแบบวรรณะพราหมณ์ ในสมัยก่อน ฝรั่งเห็นการนุ่งแบบนี้ ก็ล้อเลียนว่าคนไทยมีหางบ้าง เป็นลิง บ้าง ฯลฯ มาสู่สมัย ร. ๕ ก็เริ่มกำหนดควบคุมให้มีการนุ่งผ้าที่ได้จากการตัดเย็บ ผสมผสานกับการนุ่งผ้าแบบผ้านุ่ง ผู้หญิงที่เคยใช้ผ้ารัดอก ก็เปลี่ยนไปใส่เสื้อแทน วัฒนธรรมการนุ่งผ้าผืนจึงค่อยๆ หายไป


อนึ่ง วัฒนธรรมการนุ่งผ้าด้วยการ "ผูก, รัด, มัด, พัน, พับ" ฯลฯ ด้วยวิธีการต่างๆ นี้ค่อยๆ เลือนหายไปแล้ว นับว่าน่าเสียเดียดายเช่นกัน เพราะคนโบราณเริ่มนุ่งผ้าจากไม่กี่ผืน แล้วพัฒนาขึ้นซับซ้อนขึ้นจนมีหลายผืน ยิ่งในตระกูลคนร่ำรวยยิ่งใช้หลายผืน (ส่วนพระพุทธศาสนากำหนดให้ใช้เพียง ๓ ผืน เพื่อความสมถะ) เช่น ผ้าโผกศีรษะ ๑ ผืน, ผ้ารัดอก ๑ ผืน, ผ้าพาดไหล่ ๑ ผืน, ผ้านุ่ง (ท่อนล่าง) ๑ ผืน, ผ้าคาดเอว (คาดเอวแล้วปล่อยชายด้านหน้าเพื่อความสวยงาม) ๑ ผืน, ผ้าคลุมไหล่ ๑ ผืน ฯลฯ จะเห็นได้ว่า รายละเอียดของการใช้ผ้าผืนที่ไม่ผ่านการตัดเป็นรูปร่างต่างๆ นี้ มีมากมายทีเดียว และน่าสนใจมากอย่างยิ่ง ปัจจุบัน หากจะให้ใครสักคนลองนุ่งโจงกระเบนแล้ว คาดว่า คงยากที่จะนุ่งได้ หรือนุ่งเป็นนะครับ ทำให้เราไม่รู้ว่าคนโบราณใช้ผ้ากันอย่างไรบ้าง? ที่พอจะเป็นก็มีเพียง ผ้าขาวม้า, ผ้าขนหนู เท่านั้น แต่ผ้าที่ใช้ประดับตกแต่งอื่นๆ ก็เลือนหายไปหมด ซึ่งนับว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีคุณค่า อันจะช่วยสร้างคุณค่าของผ้าไทยให้กลับมามีบทบาทมากขึ้นได้อีกครั้งทีเดียว ทุกวันนี้ บางครั้งเรายังเห็นคนเข้าใจผิด ไปดูรูปแกะสลักภาพหญิงโบราณ คิดว่าเขาตัดชุดเป็นเสื้อ เป็นกระโปรง แล้วเอามาออกแบบเป็นเสื้อ เป็นกระโปรง ให้นางรำ ก็มี จะดูได้ในระบำสุโขทัย ซึ่งนับว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมากครับ เพราะยุคนั้น ยังไม่มีเสื้อและกระโปรงเกิดขึ้นเลย มีแต่ "ผ้าผืนและวัฒนธรรมการผูก, รัด, มัด, พัน, พับ" ฯลฯ เท่านั้นเอง นับว่าน่าเสียดายครับ



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น