วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การปฏิวัติโดยทหาร ก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยได้?

หลังจากการปฏิวัติรัฐบาลทักษิณเกิดขึ้นมา มีคำถามว่า การปฏิวัตินี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่? หลายคนโดยเฉพาะฝ่ายเสื้อแดงมองว่า "ไม่เป็นประชาธิปไตย" เพราะมองว่าคำว่า "ประชาธิปไตย จะต้องหมายถึงการเลือกตั้งเท่านั้น" ซึ่งผมกำลังจะบอกว่า เป็นการตีวงแคบไป ในการให้นิยามของประชาธิปไตย อันจะส่งผลให้ประชาธิปไตยขาดความยืดหยุ่นในภายหลังได้ ยิ่งไปกว่านั้น ประชาธิปไตย ไม่ใช่สมการที่จะเขียนเครื่องหมายว่าเท่ากับ "การเลือกตั้ง" ได้ อีกทั้ง การเลือกตั้ง ก็อาจไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริงก็ไำด้ ยกตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งที่เกิดจากนายทุน เอาเงินหาเสียงมากๆ สารพัดวิธี ส่งผลให้คนส่วนใหญ่หลงไปชั่วขณะทั้งสื่อโฆษณา, ประชาสัมพันธ์, การลดแลกแจกแถม ฯลฯ เช่นนี้ผมไม่นับว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ขอเรียกว่าเป็น "ทุนนิยมอธิปไตย" คืออำนาจไม่ไ่ด้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง แต่มันมาจากอำนาจของทุนต่างหาก ผู้มีทุน ใช้เงินทุนครอบงำประชาชนได้ ประชาชนก็อ่อนแอหลงไปกับเครื่องมือต่างๆ ซึ่งผู้มีทุนใช้ครอบงำประชาชน อย่างนี้่ จะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร? เป็นได้เพียงประชาธิปไตยจอมปลอม คำว่า "ประชาธิปไตย" จะเกิดขึ้นได้ เมื่อประชาชนอยู่ในภาวะเป็นตัวของตัวเอง คิดได้ด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่ถูกครอบงำโดยอะไรๆ จนไม่เป็นตัวของตัวเองเช่น ถูกครอบงำโดยสื่อที่นายทุนใช้เงินซื้อหามา หรือจัดสรรหามาอย่างนั้นเรียกว่า "ทุนนิยมอธิปไตย" ไม่ใช่ประชาธิไตยดังที่ผมได้กล่าวมาแล้ว


ทีนี้ กลับมาดูต่อว่า "การปฏิวัติโดยทหาร" จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร? ได้ครับ ถ้ามันเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งหลาย โดยไม่มีการครอบงำใดๆ คือ ประชาชนเป็นตัวของตัวเอง, คิด และตัดสินใจได้อย่างเสรีเต็มที่ เช่น ในการปฏิวัติทักษิณนั้น ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ไม่ได้คัดค้าน แต่หลังจากนั้นจึงมีกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งถูกครอบงำโดยสื่อของนายทุน รวมตัวกันต่อต้านทางการแสดงความคิดเห็น อนึ่ง พึงแยกแยะด้วยว่าการปฏิวัติทักษิณในครั้งนั้น นับเป็นประชาธิไตยจริง แต่หลังจากได้ยกอำนาจให้แก่รัฐบาลชุดต่อไปแล้วกลับไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน อันนี้ นับว่า "การได้มาซึ่งอำนาจของรัฐบาลนั้น" ยังไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เมื่อรัฐบาลชุดนั้นยอมลาออก จึงนับว่าได้ทำสิ่งที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยแล้ว ดังนั้น การปฏิวัติกับการยกอำนาจให้รัฐบาลชุดต่อไปนั้น จึงไม่อาจพ่วงกันเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ได้ทั้งหมด เช่น การปฏิวัติอาจได้รับการยอมรับ เพราะจัดการรัฐบาลที่ประชาชนไม่ต้องการ นับว่าเป็นวิถีประชาธิปไตยได้ แต่เมื่อยกอำนาจให้ตัวเองเมื่อไร มันก็อาจไม่ใช่ประชาธิปไตยอีกต่อไป เพราะคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ยอมรับ เป็นต้น ทว่า มีคำถามเกิดขึ้นว่าแล้วในกรณีที่คนแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ก็มี, กลุ่มที่เห็นด้วย ก็มี และกลุ่มที่เฉยๆ กลางๆ ก็มี อย่างนี้แล้วจะนับว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างชอบธรรมได้อย่างไร? คำตอบก็คือ นับได้ตราบเท่าที่ยังไม่มีการประท้วงจนสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมืองนั่นแหละ เช่น รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ได้มาจากการปฏิวัติเมื่อลงจากอำนาจไปเพื่อไม่ให้บ้านเมืองวุ่นวายก็นับเป็นประชาธิปไตยได้ แต่เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการปฏิวัติ นั่นเอง


ดังนั้น เราจึงควรกลับมาทบทวนความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย" ในมุมที่กว้างขึ้นอีกครั้งหนึ่งว่ามันไม่จำเป็นหรอกที่จะต้องยึดโยงกับการเลือกตั้งเสมอไป อีกประการ การเลือกตั้งก็อาจไม่ใช่ประชาธิปไตยก็ได้ อาจเป็นเพียงทุนนิยมอธิปไตย เช่น การเลือกตั้งหลายๆ ครั้งในอเมริกา จะเห็นว่ามีการใช้่เงินซื้อสื่อครอบงำประชาชนมาก และประชาชนก็อ่อนไหวไปกับสื่อ ตัดสินใจด้วยข้อมูลมากมายที่ล้วนได้จากสื่อ แต่มิได้มาจากความคิดของตัวเองจริงๆ เรียกว่าในอเมริกา เงินซื้ออำนาจได้ ถ้าใช้เงินอย่างถูกวิธี ซึ่งในการตีความหมายของประชาธิปไตยนี้สำคัญมาก เพราะอะไร? เพราะมันจะส่งผลต่อความยืดหยุ่นในการหยิบใช้เครื่องมือทางการเมืองต่างๆ ด้วย เช่น ถ้ายึดมั่นมากว่าการปฏิวัติจะต้องไม่ใช่ประชาธิปไตยเสมอไป ก็จะทำให้ไม่อาจใช้เครื่องมือปฏิวัติโดยทหารได้ ทำให้ต้องเสียเลือดเนื้อของประชาชนจำนวนมากแทน หรือทำให้บ้านเมืองวุ่นวายอย่างหนักและยาวนานแทนก็ได้ หรือแม้แต่การตีความจำกัดวงแคบแต่ว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ก็อาจจะส่งผลให้ "ระบอบทุนนิยมอธิปไตย" แฝงเร้นกายเข้ามาแทนที่ประชาธิปไตยได้อย่างแนบเนียนก็ได้ ดังนั้น จึงเกิดคำถามขึ้นอีกว่า "แล้วระบบกษัตริย์เป็นประชาธิปไตยหรือไม่?" คำถามนี้ตอบไม่ยาก ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ถูกอะไรครอบงำ มีความคิดได้อย่างอิสระเสรีจะเห็นว่าอย่างไร นั่นเอง ทว่า ปัจจุบันนี้ สภาวะที่เรียกว่า "ประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ถูกอะไรครอบงำ มีความคิดของตัวเองได้อย่างอิสระเสรีนั้น" เป็นสิ่งที่หาได้ยากทีเดียว เพราะส่วนใหญ่จะถูกสื่อครอบงำได้ง่ายๆ ดังนั้น ประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงเกิดได้ยากเย็นยิ่ง ภายใต้สถานการณ์เ่ช่นนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นมวลชนคนเสื้อเหลือง หรือมวลชนคนเสื้อแดง ก็ล้วนถูกครอบงำด้วยสื่อที่แตกต่างกันไปทั้งสิ้น ไม่ได้มีความคิดเป็นของตัวเองอย่างอิสระอย่างแท้จริง เช่นนี้ก็ไม่พ้นวังวนของ "ทุนนิยมอธิปไตย" เช่นเคย



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น