วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

มวยคู่เอก : โอบาม่า VS สีเจี้ยนผิง

ข่าวร้อนสุดฮอตฮิตประจำสัปดาห์และเดือนนี้ ผมคิดว่าคงไม่มีอะไรเกินไปกว่าการเดินทางมาเยี่ยมเยียนประเทศไทยของ "บารัค โอบาม่า" อันส่งผลใ้ห้ประเทศจีนส่งนายกฯ เข้ามาเยือนไทยด้วยในลำดับถัดมา แบบไม่น้อยหน้ากันเลยทีเดียว (โปรดสังเกตุว่าทางฝ่ายจีน จะรอดูอเมริกาก่อนว่าจะวางหมากอย่างไรจึงค่อยลงภายหลัง เช่น รอให้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาออกมาก่อน แล้วจีนจึงค่อยประชุมเลือกตัวผู้นำคนต่อไป) และจะกลายเป็น "ประเด็น" ที่ผมจะขอหยิบยกมาวิพากย์วิจารณ์กันในบทความนี้ด้วยนะครับ


อย่างแรก ผมขอสรุปสั้นๆ เท้าความถึงความเป็นมาก่อนหน้านี้สักหน่อย หลังจากที่โลกเริ่มสั่นคลอนและขั้วอำนาจเก่าเริ่มไม่อาจรักษาอำนาจเดิมไว้ได้ จีนได้ผงาดขึ้นมากลายเป็น "ขั้วอำนาจใหม่" ที่มีพลังและความสำคัญไม่แพ้อเมริกาในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันนั้น อเมริกา, ยุโรป ฯลฯ ที่เคยมีอำนาจมากเป็นกลุ่มอำนาจเก่ากลับยิ่งอ่อนแอและถดถอยลงเรื่อยๆ (ยุคของบารัก โอบาม่า คือ ยุคถดถอยของอเมริกาครับ) ทำให้พลังอำนาจของอเมริกาที่มีแต่เดิมทั่วโลกลดลง และถูกบั่นทอนลงไปเรื่อยๆ โดยการขยายอิทธิพลของประเทศจีน โดยผ่านการค้าที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศจีนนั่นเอง ในขณะที่ "โลกขั้วทุนนิยม" พยายามส่งสัญญาณให้ "ทุนจีน" เข้ามาช่วยหนุน และเปิดประเทศจีนให้มีการค้าขายอย่างเสรีและเท่าเทียมกันมากขึ้น อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของ "โลกขั้วทุนนิยม" ได้ ทว่า กลับไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจาก "โลกขั้วสังคมนิยม" นัก ในขณะที่ประเทศจีน หันกลับมาสร้าง "ความเข้มแข็งจากรากฐานภายใน" แล้วจึงค่อยขยายอิทธิพลออกรอบนอกเช่น ธิเบต, ฮ่องกง, ไต้หวัน, เวียตนาม, ลาว และพม่า เป็นต้น ในขณะเดียวกัน "ภาพรวมทั่วโลก" เปลี่ยนแปลงไป ยุโรปถดถอยลงไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะหาทางแก้ไขได้ แต่เอเชียกลับกำลังรุ่งโรจน์ยิ่งขึ้นทุกวัน ทั้งจีนและเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ คือ "อาเซียน" ส่งผลต่อโลกทั้งใบทันที ความสนใจของทั่วโลก จึงต้องเบนเข็มจากยุโรปและอเมริกามาตั้งฐานการตลาดที่ "อาเซียน" เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั้งการค้าและการทำสงคราม และเมื่อเป็นเช่นนี้ อเมริกา จึงต้องให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้น เห็นได้ชัดจากนโยบายการต่างประเทศที่ทำกับ "พม่า" ในขณะที่อองซาน ได้รับการยกย่องเป็น "วีรสตรี" เพื่อใช้เป็นหมากเดินเกมของโลกขั้วทุนนิยม การแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในกลุ่มประเทศอาเซียนจึงกระทบอย่่างยิ่งยวดต่ออเมริกา และทำให้อเมริกาต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ เช่น เพิ่มงบประมาณทางการทหารในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น เป็นต้น และเพื่อไม่ให้จีนขยายอิทธิพลไปได้มากกว่านั้น อเมริกาจึงต้องหนุนให้ "อาเซียนงัดข้อกับจีน" เพื่อจะให้อาเซียนคานอำนาจกับจีนนั่นเอง โดยที่อาเซียนอาจไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลยกับหมากเกมนี้ เช่น การทำให้มี "ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้" เกิดขึ้น นั้นก็ "คาดว่า" เป็นเกมการเมืองที่อเมริกาเคยใช้ได้ผลกับประเทศในกลุ่มอาหรับมาแล้ว และกำลังถูกนำมาใช้กับประเทศในกลุ่มอาเซียนต่ออีก นั่นเอง หรือกล่าวโดยสรุปง่ายๆ ว่า "แนวนโยบายของเดโมแครต" ก็คือ การเมืองนำการค้า ใช้การทหารเข้าเปิดทาง เพื่อทำให้ได้โอกาสทางธุรกิจในลำดับต่อไป (แตกต่างจากรีพับริกัน ที่จะใช้การทหารน้อยกว่า พวกนั้นจะใช้กฏหมายและการเจรจามากกว่าการทหาร) คำถามก็คือ "อาเซียน" จะทำอย่างไร? เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากต่อการตัดสินใจ จะปล่อยให้อิืทธิพลของจีนรุกคืบเข้ามากลืนอาเซียนอย่างเงียบๆ หรือจะยอมเป็นเครื่องมือทางการทหารให้แก่ขั้วทุนนิยม เพื่องัดข้อกับประเทศจีน? แน่นอนว่า ไม่มีทางไหนที่ให้ผลดีแก่ประเทศในกลุ่มอาเซียนเลย เพราะล้วนแต่ตอบโจทย์ความต้องการของ "อภิมหาอำนาจ" ทั้งสองทั้งสิ้น


สิ่งที่เราจะมาจับตาดูกันต่อไป ก็คือ การเดินหมากของคนทั้งสอง ๑. ประธานาธิบดีอเมริกา "โอบาม่า" และ ๒. ประธานาธิบดีคนใหม่ของจีน "สีเจี้ยนผิง" เพราะเกมนี้ ถูกวางหมากไว้แล้วแต่แรก ก่อนที่คนทั้งสองจะตัดสินใจ ขั้วจีนก็มี "หูจิ่นเทา" วางหมากปูทางไว้ให้สีเจี้ยนผิง เดินเกมต่อแล้วอย่างงดงาม และเหนือชั้นยากที่จะแก้ ขั้วอเมริกาก็มี "องค์กรลับ" ที่อยู่เบื้องหลังการเมืองอเมริกา คอยเป็นผู้วางแผนส่งให้ประธานาธิบดีเดินเกมต่อไป เราจะมาคอยดูกันว่าบุคคลทั้งสองจะเดินเกมต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะบทบาทใน "อาเซียน" ซึ่งส่งผลกระทบต่อเรามากที่สุด และฮิตฮอตที่สุดในยุคปัจจุบัน




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น